งานอาสาสมัครวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (อสวท.) 
หลักการและเหตุผล
สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ริเริ่มการดำเนินงานอาสาสมัครวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (อสวท.) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 โดยดำเนินคู่ขนานไปกับงานคลินิกเทคโนโลยี โดยมีการสรรหาสมาชิก อสวท.ใหม่เป็นประจำทุกปี และบุคคลที่เป็น อสวท. จะได้รับการเติมความรู้ ข้อมูลข่าวสารทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ นับเป็นการสร้างผู้นำชุมชนไปสู่การคิดแบบวิทยาศาสตร์ในเชิงหาสาเหตุและอธิบายเหตุและผล มีแนวคิดในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้ให้เกิดประโยชน์ เกิดสังคมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ควบคู่กับการดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาและช่วยเหลือให้สังคมก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี

ความหมาย บทบาท หน้าที่ ของสมาชิก อสวท.

ความหมาย สมาชิก อสวท. หมายถึงบุคคลที่อาสามาทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปเผยแพร่สู่ชุมชน และเป็นสะพานนำความต้องการของชุมชนมาสู่สถาบันการศึกษาที่เป็นเครือข่าย อสวท.

บทบาท สมาชิก อสวท. เป็นผู้นำความรู้ความต้องการด้ารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ชุมชนในท้องงถิ่นต้องการเพื่อนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ในชุมชน

หน้าที่ของสมาชิก อสวท.

  1. ติดตามข่าวสารความรู้และให้ความสนใจในงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง

  2. พบปะ/พูดคุย/แนะนำ เพื่อนบ้านในชุมชนและรับฟังความคิดเห็น ปัญหาและความต้องการของชุมชน แจ้งให้สถาบันการศึกษาที่เป็นเครือข่าย อสวท. เพื่อนำไปแก้ไขและให้คำตอบกับชุมชน

  3. รับรู้เรื่องราว ปัญหาความต้องการเทคโนโลยีของชุมชน ที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือ

  4. จัดกิจกรรมเผยแพร่ข่าวสาร ข้อมูลเพื่อกระตุ้นให้ชุมชนได้รับประโยชน์

  5. เป็นผู้ประสานเชื่อมโยง การสื่อสารข้อมูลระหว่างชุมชน กับสถาบันการศึกษาที่เป็นเครือข่าย อสวท. และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

การดำเนินกิจกรรมตามโครงการ อสวท.

  1. การสรรหาสมาชิก อสวท. วท. ร่วมกับคลินิกเทคโนโลยีที่แสดงความจำนงเข้าร่วมเป็นเครือข่าย อสวท. จัดกิจกรรมสรรหาสมาชิก อสวท. ใหม่ในพื้นที่ที่ยังไม่มีเครือข่าย อสวท. เพื่อต้องการสรรหาบุคลากรมาทำหน้าที่เผยแพร่ความรู้ด้าน วทน. ให้เข้าถึงชุมชน และแก้ไขปัญหาในชุมชนได้มากที่สุด โดยกำหนดเป้าหมายในการสรรหาสมาชิก อสวท. ในแต่ละพื้นที่จังหวัดจำนวนไม่น้อย 150 คน

  2. การพัฒนาศักยภาพด้าน วทน.ให้กับสมาชิก อสวท. ภายหลังจากที่บุคคลให้ความสนใจสมัครเข้าเป็น อสวท. แล้วนั้น วท. จะร่วมกับคลินิกเทคโนโลยีเครือข่าย อสวท. จัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพด้าน วทน. ให้กับสมาชิก อสวท. เพื่อให้สมาชิก อสวท. ได้มีความรู้ ความเข้าใจหลักการทางวิทยาศาสตร์ และความรู้ใหม่เกี่ยวกับ วทน. รวมทั้งเข้าใจในพันธกิจของ วท. ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับสมาชิก อสวท. ในเพิ่มความรู้พัฒนาตนเองและการสื่อสารกับชุมชน รวมทั้งเพื่อนำเสนอประเด็นปัญหาทางด้าน วทน. เพื่อหาแนวทางแก้ไขต่อไป

  3. การจัดทำจดหมายข่าว อสวท. เพื่อเป็นช่องทางสำหรับการแบ่งปันความรู้ การเผยแพร่ความรู้ทางด้าน วทน. ช่องทางการสื่อสารระหว่างสมาชิก อสวท. และเครือข่าย โดยจัดทำจำนวน 2 ฉบับ (ราย 6 เดือน) แล้วส่งให้แก่สมาชิก อสวท. ทั่วประเทศตามรายชื่อและที่อยู่ในระบบคลินิกออนไลน์

  4. โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนที่ผลักดันโดยสมาชิก อสวท. หลังจากที่คลินิกเทคโนโลยีที่เข้าร่วมเป็นเครือข่าย และดำเนินการสรรหาสมาชิก อสวท. แล้วนั้น ในแต่ละปีคลินิกเทคโนโลยีเครือข่าย อสวท. สามารถลงพื้นที่สำรวจปัญหาหรือความต้องการด้าน วทน. ของสมาชิก อสวท. แล้วนำประเด็นเหล่านั้นมาจัดกลุ่ม ลำดับความสำคัญ/เร่งด่วน และจัดทำเป็นข้อเสนอโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานผ่านโครงการคลินิกเทคโนโลยีหรือโครงการอื่นๆ ของ วท. ต่อไป

  5. การประชุมรวมพล อสวท. ประจำปี เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้าน วทน. สร้างความสัมพันธ์ ความร่วมมือในการทำงานร่วมกันระหว่างเครือข่าย อสวท. ทั่วประเทศ โดยมีรูปแบบการประชุมคือ การนำเสนอผลงานของสมาชิก อสวท. การศึกษาดูงานผลงานของ วท. คลินิกเทคโนโลยีเครือข่าย และสมาชิก อสวท. ที่ประสบความสำเร็จในพื้นที่