MUKA Herbarium: พิพิธภัณฑ์พืชแห่งภูมิภาคตะวันตก

พิพิธภัณฑ์พืชมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ได้เริ่มรวบรวมตัวอย่างตั้งแต่ปี 2545 การรวบรวมพรรณไม้ได้เริ่มจากนักศึกษาในสาขาวิชาชีววิทยาเชิงอนุรักษ์เก็บตัวอย่างพรรณพืชในพื้นที่วิทยาเขตกาญจนบุรี ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 6300 ไร่ หรือประมาณ 10 ตารางกิโลเมตร โดยพื้นที่ร้อยละ 90 เป็นพื้นที่ป่า หลังจากนั้นได้ทำการจัดเก็บตัวอย่างนอกพื้นที่วิทยาเขตกาญจนบุรี โดยส่วนใหญ่เก็บจากป่าตะวันตก ซึ่งครอบคลุมพื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรโยค อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ อุทยานแห่งชาติเอราวัณ เป็นต้น ซึ่งจังหวัดกาญจนบุรีและภูมิภาคตะวันตกมีความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) สูงมาก ทำให้ควรค่าแก่การอนุรักษ์ระบบนิเวศน์และคงรักษาไว้ ตลอดจนเป็นแหล่งเก็บรวบรวมความรู้ถึงระบบนิเวศน์ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพดังกล่าว

ในปี พ.ศ. 2550 ได้มีการเปลี่ยนแปลงคือมีการย้ายห้องพิพิธภัณฑ์พืชจากอาคารอำนวย เป็นอาคารปฏิบัติการ ชั้นที่ 1 ช่วงปี พ.ศ. 2551 ได้มีการรับอาจารย์และบุคลากรเพิ่มเติมทำให้มีการดูแลอีกทั้งยังมีงบประมาณเข้ามาพัฒนาทำให้พิพิธภัณฑ์พืชนี้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ในปี พ.ศ. 2555 ได้เริ่มเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดโดยมีนักวิจัยภายนอกเข้ามาใช้ตัวอย่างและได้ร่วมมือกับนักวิจัยของพิพิธภัณฑ์พืชแห่งนี้ทำการวิจัยพืชในท้องถิ่นและภูมิภาคตะวันตก ในปี พ.ศ. 2563 และ 2564 ได้ปรับปรุงห้องพิพิธภัณฑ์ใหม่โดยเน้นการนำเอาเทคโนโลยีดิจิตอล เช่น AR และ VR รวมถึง Simulation มาช่วยในการทำเป็น Story-Telling ในการเล่าเรื่องเพื่อให้เกิดความน่าสนใจยิ่งขึ้น

พิพิธภัณฑ์พืชเป็นสถานที่เก็บรวบรวมตัวอย่างพืชเพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลเกี่ยวกับพืชของภาคตะวันตกให้เป็นไปตามหลักและมาตรฐานระดับสากล และสนับสนุนการเรียนการสอน การวิจัยของนักศึกษา อาจารย์ และนักวิจัยทั้งในและต่างประเทศที่ต้องการศึกษาอ้างอิงพรรณไม้ที่เป็นตัวแทนของพืชในภาคตะวันตก นอกจากนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับนักเรียนและครูในโรงเรียนต่างๆ ที่ ตลอดจนนักศึกษา คณาจารย์ และบุคลากรผู้สนใจ ที่ได้มาศึกษาดูงานภายในวิทยาเขตฯ จากทั้งในและต่างประเทศจำนวนมาก โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย นอกจากนี้พิพิธภัณฑ์นี้รองรับการถ่ายทอดองค์ความรู้ตามแนวทาง “โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ” ให้กับประชาชนและผู้สนใจ

จุดประสงค์ไม่ใช่เพียงแต่รู้จักชนิดของพรรณพืช จัดลำดับหมวดหมู่ตามหลักอนุกรมวิธานและเรียงเป็นระบบในรูปแบบพรรณไม้แห้ง (ภาพที่ 1) แสดงพรรณไม้ดอง (ภาพที่ 2) และเก็บเมล็ดพันธุ์เพื่อใช้อ้างอิงเพื่อการศึกษาวิจัย เท่านั้น แต่ได้สรุปสมบัติต่างๆ ระบบนิเวศน์ของพืชที่ควรอนุรักษ์ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อป่า (ภาพที่ 3) ตัวอย่างประเภทของสัตว์ที่พบเห็นในป่า (ภาพที่ 4) รวมถึงตัวอย่างการนำไปใช้ประโยชน์ของพืช (ภาพที่ 5) พิพิธภัณฑ์พืชจึงเป็นรากฐานสำคัญของการศึกษาความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อประเมินค่าของวัตถุดิบต่างๆ สำหรับด้านต่างๆ เช่น เภสัชกรรม เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนด้านทรัพยากรธรรมชาติทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศต่อไป

...

ภาพที่ 1 ตัวอย่างการแสดงพรรณไม้แห้ง และการอธิบายตามหลักอนุกรมวิธาน ของ MUKA Herbarium

 

...

ภาพที่ 2 ตัวอย่างการแสดงพรรณไม้ดอง ของ MUKA Herbarium

 

...

ภาพที่ 3 การนำ Model เขาในป่าของวิทยาเขตฯ เพื่อนำมาแสดงสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลที่มีผลกระทบต่อป่า

 

...          ...

ภาพที่ 4 ตัวอย่าง Brochure ภาพสัตว์ที่พบ จากการคงรักษาป่าในวิทยาเขตกาญจนบุรี

 

...          ...

ภาพที่ 4 ตัวอย่าง Brochure ภาพพืชน้ำมันหอมระเหย และภาพตัวอย่างพรรณพืชที่นำมาแสดงในการนำไปใช้ประโยชน์

รายละเอียดเพิ่มเติม MUKA Herbarium

สำหรับโครงการวิจัยที่ผ่าน “โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพสธ)” ของคณาจารย์และนักวิจัยวิทยาเขตกาญจนบุรี ซึ่งจะเป็นการศึกษาและธำรงรักษาระบบนิเวศน์ที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพทางภูมิภาคตะวันตก จะถูกนำมาจัดเก็บรวบรวมเป็นฐานข้อมูลในพิพิธภัณฑ์

คู่ความร่วมมือหลัก คือกองการเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานเกษตรพัฒนา หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ที่ร่วมในการพัฒนา MUKA Herbarium โครงการ อพสธ และเขื่อนศรีนครินทร์